6 วิธีที่เทคโนโลยี HVAC สามารถทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนได้เร็วขึ้น

จากการที่ประเทศไทยวิวัฒนาการจากประเทศกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงจากเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สอดคล้องกับสากลโลก โดยในฐานะที่เป็นหนึ่งสมาชิกพันธสัญญาในข้อตกลงปารีส ส่งผลให้ประเทศมุ่งหวังจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปีลง 20.8% หรือเทียบเท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) 115,600,000 ตันภายในสิ้นทศวรรษนี้

 

สำหรับเมืองที่กำลังขยายตัวและมีประชากรหนาแน่นอย่างกรุงเทพฯ การบริโภคพลังงานในอาคารคิดเป็นสัดส่วนถึง 60% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ดังนั้น ยุทธศาสตร์การจัดการอาคารพาณิชย์ อาคารสูงและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

 

ประเทศและเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทาย ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ดูแลอาคารบริหารจัดการอาคารได้อย่างทันสมัยและยั่งยืน ซึ่งหมายรวมถึงการควบคุมให้มีการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ ทั้งอาคารที่ปรับปรุงหรืออาคารสร้างใหม่ และยังคงรักษาความสมบูรณ์ในการปฏิบัติงานและความสามารถในการสร้างผลกำไรได้

 

ในสภาพอากาศเขตร้อนอย่างประเทศไทย เครื่องปรับอากาศมีความจำเป็นแทบจะตลอดทั้งปี และเพราะระบบ HVAC ใช้พลังงานในอาคารพาณิชย์มากกว่าส่วนอื่น ๆ กุญแจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นการกำเนิดใหม่ของระบบ HVAC ที่ "ชาญฉลาด"

 

ต่อไปนี้คือ 6 วิธีที่โซลูชัน HVAC อัจฉริยะที่สามารถทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนได้เร็วขึ้น

 

1. ระบบ HVAC อัจฉริยะลดการใช้พลังงานในอาคารขนาดใหญ่

ระบบ HVAC ของอาคารทั่วไปมีการใช้ไฟฟ้าคิดเป็นระหว่าง 40% ถึง 70% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด และตัวเลขนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นในพื้นที่ที่มีความชื้นและอุณหภูมิสูง

 

อุปกรณ์ปรับอากาศแบบดั้งเดิมมีการใช้พลังงานสูง ปริมาณพลังงานที่ต้องใช้จะแปรผันตามปริมาณภาระการทำความเย็นแฝงที่ต้องจัดการ ยิ่งอาคารใหญ่และสภาพอากาศร้อนขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเท่านั้น

 

โซลูชัน HVAC อัจฉริยะได้รับการออกแบบมาเพื่อจัดการกับแต่ละองค์ประกอบในระบบ HVAC ระบบเหล่านี้ใช้เซ็นเซอร์และอัลกอริธึมในการระบุความเสื่อมประสิทธิภาพในอุปกรณ์ และในขณะเดียวกันก็ให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์แก่ผู้ปฏิบัติงานอาคารและผู้ใช้เพื่อให้จัดการเครื่องปรับอากาศได้อย่างครอบคลุมทุกองค์ประกอบ ระบบ HVAC อัจฉริยะแบบครบวงจรสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าของอาคารพาณิชย์ได้ 30% ถึง 50%

 

2. หัวใจสำคัญของระบบ HVAC อัจฉริยะคือความสามารถด้าน IoT และ AI

IoT หรือ Internet of Things เป็นคำศัพท์ที่เราใช้เพื่ออธิบายการเชื่อมต่อถึงกันของอุปกรณ์ เครื่องใช้ และสิ่งของในชีวิตประจำวันผ่านทางอินเทอร์เน็ต นวัตกรรม IoT กำลังเข้ามามีบทบาทในเกือบทุกอุตสาหกรรม และมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการปรับปรุงกระบวนการแบบดั้งเดิมให้ทันสมัยขึ้นในระบบอุตสาหกรรมหนัก

 

สำหรับระบบ HVAC เชิงพาณิชย์นั้น IoT เกี่ยวข้องกับการติดตั้งเซ็นเซอร์ที่จุดต่าง ๆ ตลอดอายุการใช้งานวงจรชีวิตของระบบ HVAC

 

จากนั้นจะมีการใช้อัลกอริธึมปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับข้อมูลที่รวบรวมมาเพื่อทำการตัดสินใจอย่างชาญฉลาดว่าระบบ HVAC ควรทำงานอย่างไร โครงสร้างนี้พัฒนาขึ้นจากระบบการจัดการอาคาร (BMS) แบบเดิมตรงที่จะรวมปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงได้มาใช้ในการควบคุมแบบเรียลไทม์ แทนที่จะอาศัยการตั้งตัวแปรคงที่ไว้ในโปรแกรมล่วงหน้า

 

3. ระบบ HVAC อัจฉริยะมีบทบาทในการปรับปรุงภาคการท่องเที่ยวและการบริการที่กำลังฟื้นตัวของประเทศไทยให้ทันสมัย

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย การก่อสร้างโรงแรมและรีสอร์ทใหม่ ๆ ที่ทันสมัยเป็นโอกาสอันดีเยี่ยมสำหรับประเทศในการที่จะนำเสนอเทคโนโลยี HVAC อัจฉริยะสู่ตลาด ระบบ HVAC อัจฉริยะไม่เพียงแต่ช่วยให้อาคารสถานที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านคุณภาพอากาศและสุขภาพของผู้ที่อยู่ภายในอาคารได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้อาคารดูโดดเด่นในสายตาของผู้พบเห็นด้วย

 

4. ระบบ HVAC อัจฉริยะช่วยให้ข้อมูลและความยืดหยุ่นกับผู้ใช้อาคารมากขึ้น

จากการศึกษาพบว่าแอปพลิเคชันที่ออกแบบมาเพื่อโน้มน้าวพฤติกรรมของผู้ใช้งานภายในอาคารในการใช้เครื่องปรับอากาศ สามารถลดการใช้พลังงานในแต่ละคนได้เกือบหนึ่งในสี่ และลดค่าไฟของอาคารลงได้ 8%

 

ดังนั้น ระบบ HVAC อัจฉริยะจึงไม่เพียงแค่มุ่งเน้นไปที่การทำงานภายในอาคารจากมุมมองทางวิศวกรรมการออกแบบระบบเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ใช้งานได้รับรู้ข้อมูลมากขึ้นว่าพฤติกรรมส่วนบุคคลของพวกเขาส่งผลกระทบต่อปริมาณการปล่อยคาร์บอนอย่างไร

 

5. ระบบ HVAC อัจฉริยะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบำรุงรักษาในระยะยาว

ระบบ HVAC มักเป็นส่วนที่ซับซ้อนที่สุดของอาคาร และต้องมีการบำรุงรักษาความสมบูรณ์ของตัวกรอง ท่อส่งลมเย็น มอเตอร์ ตัวเก็บประจุ และสารทำความเย็นทั้งหมดไว้อย่างแยบยล

 

เมื่อเวลาผ่านไป การสึกหรอจะส่งผลกระทบชัดเจน และทำให้อายุการใช้งานของอุปกรณ์สั้นลง และต้องใช้พลังงานมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อทำความเย็นให้อาคาร

 

บางทีผลตอบแทนทางการเงินที่มากที่สุดจากการใช้ระบบ HVAC อัจฉริยะอาจอยู่ในด้านการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์และเชิงป้องกัน ซึ่งคือจุดที่เซ็นเซอร์และอัลกอริธึมให้การอ่านข้อมูลระบบ HVAC แบบเรียลไทม์และระบุจุดอ่อนและชิ้นส่วนที่เสื่อมประสิทธิภาพ

 

ระบบ HVAC อัจฉริยะจะทำให้พบปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนั้นจึงสามารถจัดการได้ก่อนที่จะเป็นอันตรายต่อระบบในวงกว้าง ซึ่งช่วยเพิ่มความทนทาน ประสิทธิภาพ ลดค่าไฟฟ้าและยืดอายุการใช้งานของระบบ

 

อุตสาหกรรมการก่อสร้างในท้องถิ่นของประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญกับต้นทุนมากกว่าความยั่งยืน ดังนั้น การสื่อสารเรื่องระบบ HVAC อัจฉริยะจะต้องบอกว่าระบบนี้ไม่ได้เป็นแค่วิธีการลดคาร์บอนเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการประหยัดเงินตลอดอายุการใช้งานของอาคารด้วย

 

6. ระบบ HVAC อัจฉริยะสามารถใช้ประโยชน์จากการลงทุนใน 5G ของประเทศไทย

เพราะต้องมีการเชื่อมต่อถึงกันระหว่างเซ็นเซอร์หลายพันตัวและการประมวลผลข้อมูลขาเข้าจำนวนมหาศาลแบบเรียลไทม์ ระบบ HVAC อัจฉริยะจึงต้องมีความสามารถในการประมวลผลความเร็วสูง ซึ่งความสามารถเช่นนี้จะเป็นไปได้ด้วย 5G ที่จะเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีสำหรับเจ้าของอาคารและผู้ปฏิบัติงาน เพื่อรวมโซลูชัน HVAC อัจฉริยะเข้าไว้ในการออกแบบ

 

รับข้อมูลเชิงลึกและการวิเคราะห์เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่กล่าวถึงในบทความนี้ในหนังสือปกขาวเล่มล่าสุดของเรา: จุดมุ่งหมาย ความท้าทาย และโอกาส – วิธีที่ประเทศไทยก้าวสู่ความยั่งยืนด้วยระบบ HVAC อัจฉริยะ

รับหนังสือที่นี่

โดย Hitachi Cooling & Heating